ประวัติของมหาวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ เป็นหนึ่งในเก้ามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ซึ่งได้รับการสถาปนาเป็นมหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๘ มีฐานะเป็นสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ มีพื้นที่จัดการศึกษา ๔ แห่งคือ สำนักงานอธิการบดี ตั้งอยู่ที่ ตำบลหันตรา อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา |
|
๑. ประวัติความเป็นมาของมหาวิทยาลัย แต่เดิมพื้นที่จัดการศึกษา จำนวน ๓ แห่งของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ เป็นวิทยาลัยในสังกัดกรมอาชีวศึกษา ประกอบด้วย วิทยาลัยเกษตรกรรมพระนครศรีอยุธยา วิทยาลัยพณิชยการพระนครศรีอยุธยา และวิทยาลัยเทคนิคนนทบุรี ซึ่งต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๒๐ ได้มีพระราชบัญญัติโอนกิจการบางส่วนของกรมอาชีวศึกษาไปเป็นของวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษารวม ๒๘ แห่ง ซึ่งรวมวิทยาลัยทั้ง ๓ แห่ง ดังกล่าวด้วย พร้อมกันนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ออกประกาศกระทรวงศึกษาธิการเปลี่ยนชื่อสถานศึกษาและตั้งเป็น วิทยาเขตทั้ง ๒๘ แห่งในปีเดียวกัน |
|
ดังนั้น วิทยาเขตเกษตรพระนครศรีอยุธยา วิทยาเขตพณิชยการพระนครศรีอยุธยา และวิทยาเขตเทคนิคนนทบุรี จึงสังกัดวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา ซึ่งมีฐานะเป็นกรมในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๐ เป็นต้นมา ต่อมาในปี ๒๕๓๑ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อใหม่ว่า “สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล” และต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๓๒ กระทรวงศึกษาธิการได้มีประกาศเปลี่ยนชื่อวิทยาเขตในสังกัดสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล เฉพาะวิทยาเขตในส่วนภูมิภาค รวม ๑๗ วิทยาเขต ส่งผลให้ ทั้ง ๓ วิทยาเขตเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น วิทยาเขตพระนครศรีอยุธยา หันตรา วิทยาเขตพระนครศรีอยุธยาวาสุกรี และวิทยาเขตนนทบุรี ตามลำดับ ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๓๘ ได้มีประกาศจัดตั้งวิทยาเขตสังกัดสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล จำนวน ๕ แห่ง คือวิทยาเขตเชียงราย วิทยาเขตสกลนคร วิทยาเขตสุพรรณบุรี วิทยาเขตศาลายา และวิทยาเขตศรีวิชัย นับเป็นจุดเริ่มต้นของการก่อกำเนิด วิทยาเขตสุพรรณบุรีซึ่งเป็นพื้นที่จัดการศึกษา แห่งที่ ๔ ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล ได้ขยายการศึกษาออกไปในส่วนภูมิภาคต่าง ๆ จนถึง ๓๕ วิทยาเขต รวมทั้งมีศูนย์กลางการจัดการศึกษาระดับปริญญาตรี ซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลคลองหก อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี และมีการจัดการศึกษาระดับต่ำกว่าปริญญาตรีและปริญญาตรี ในทุกวิทยาเขต | |
การจัดการศึกษาระดับปริญญาตรีในวิทยาเขตต่าง ๆ มีปัญหาในด้านการบริหารจัดการค่อนข้างมาก เพราะแม้ว่าวิทยาเขตจะเปิดสอนระดับปริญญาตรีในสาขาวิชาต่าง ๆ ได้ แต่ก็เป็นการเปิดในนามของคณะซึ่งตั้งอยู่ที่ศูนย์กลางฯ จังหวัดปทุมธานีเป็นหลัก ทำให้ขาดความคล่องตัวในการบริหารจัดการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การให้บริการสนองตอบความต้องการของประชาชนในแต่ละภูมิภาค ดังนั้นหลังจากที่ประเทศไทยมีกฎหมายการศึกษาฉบับแรก คือ พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ ส่งผลให้สถาบันอุดมศึกษาที่เปิดสอนระดับปริญญามาอยู่ในสังกัดเดียวกัน คือ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ สถาบันเทคโนโลยีราชมงคลจึงได้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไข พระราชบัญญัติสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล พ.ศ. ๒๕๑๘ โดยมีการรวมกลุ่มวิทยาเขตในสังกัดซึ่งอยู่ในภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศไทย ออกเป็น ๙ กลุ่ม และเสนอพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล เพื่อจัดตั้งเป็นมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล จำนวน ๙ แห่ง โดยมีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ เป็นมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ในจำนวน ๙ แห่งนั้น ซึ่งเกิดจากการรวมทั้ง ๔ วิทยาเขตเข้าด้วยกัน คือ วิทยาเขตพระนครศรีอยุธยา หันตรา วิทยาเขตพระนครศรีอยุธยา วาสุกรี วิทยาเขตนนทบุรี และวิทยาเขตสุพรรณบุรี โดยมีที่ตั้งสำนักงานอธิการบดี อยู่ในพื้นที่วิทยาเขตพระนครศรีอยุธยา หันตรา และหลังจากที่กฎกระทรวงจัดตั้งส่วนราชการระดับคณะ สถาบัน สำนัก ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ มีผลใช้บังคับแล้ว ทั้ง ๔ แห่ง วิทยาเขตได้หลอมรวมเป็นมหาวิทยาลัย โดยจัดตั้งคณะ สถาบัน สำนัก ลงในพื้นที่ทั้ง ๔ วิทยาเขตแทนและเพื่อให้สะดวกในการสื่อสาร ระหว่างภายในองค์กรและภายนอกองค์กร จึงเรียกทั้ง ๔ พื้นที่ว่า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ ศูนย์หันตรา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ ศูนย์วาสุกรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ ศูนย์นนทบุรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ ศูนย์สุพรรณบุรี ตามลำดับ | |
๒. ประวัติความเป็นมาของพื้นที่จัดการศึกษาทั้ง ๔ แห่ง ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ ซึ่งประกอบด้วย วิทยาเขตพระนครศรีอยุธยา หันตรา, วิทยาเขตพระนครศรีอยุธยา วาสุกรี, วิทยาเขตนนทบุรี และวิทยาเขตสุพรรณบุรี | |
๒.๑ ประวัติความเป็นมาของวิทยาเขตพระนครศรีอยุธยา หันตรา วิทยาเขตพระนครศรีอยุธยา หันตรา เริ่มแรกก่อตั้งเป็นโรงเรียนประถมวิสามัญเกษตรกรรมเมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๗๖ ณ ตำบลท่าวาสุกรี อำเภอกรุงเก่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๘๑ ได้ย้ายไปอยู่ในหมู่ที่ ๘ ถนนป่าโทน ตำบลประตูชัย | |
ในปี พ.ศ. ๒๔๘๓ ได้เปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนเกษตรกรรมอยุธยา และรับนักเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ มาเรียนต่ออีก ๒ ปี และอบรมเพิ่มเติมอีก ๑ ปี จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๔๘๗ ได้ขยายเปิดรับนักเรียนเกษตรกรรมชั้นกลาง (มีสิทธิเทียบเท่ากับนักเรียนที่จบหลักสูตรครูมูลหรือ ม. ๖ ในสมัยนั้น) ในปี พ.ศ. ๒๕๐๔ ได้ขยายการจัดการเรียนการสอนมาเป็นหลักสูตร ประโยคอาชีวชั้นสูง แผนกเกษตรกรรม (ม.ศ. ๖ แผนกเกษตรกรรม) และในปี พ.ศ. ๒๕๐๘ ได้ขยายการจัดการเรียนการสอนมาเป็นหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) แผนกเกษตรกรรม และยกฐานะเป็นวิทยาลัยเกษตรกรรม สังกัดกรมอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการชื่อวิทยาลัยเกษตรพระนครศรีอยุธยา รวมทั้งปรับปรุงหลักสูตร ม.ศ. ๖ แผนกเกษตรกรรม เป็นหลักสูตรประโยควิชาชีพ (ปวช.) ในปีเดียวกันนี้มีการย้ายสถานที่ตั้งของวิทยาเขตฯ มา ณ ตำบลหันตรา อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งในระยะแรกใช้พื้นที่ทั้งสองส่วนคือตำบลประตูชัย และตำบลหันตรา ในการจัดการเรียนการสอน จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๕๒๙ ได้ย้ายส่วนของการเรียนการสอนมา ณ ตำบลหันตรา และได้จัดการศึกษาลักษณะโพลีเทคนิค โดยเปิดสอนหลักสูตร ปวส. สาขาเทคโนโลยีเครื่องจักรกลเกษตร ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๓๑ วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาได้รับพระราชทานนามใหม่ว่า สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล และได้เปลี่ยนชื่อวิทยาเขตเกษตรพระนครศรีอยุธยาเป็น “วิทยาเขตพระนครศรีอยุธยา หันตรา” รวมทั้งได้ขยายการจัดการศึกษาถึงระดับปริญญาตรีจวบจนถึงปัจจุบันนี้ |
๒.๒ ประวัติความเป็นมาของวิทยาเขตพระนครศรีอยุธยา วาสุกรี วิทยาเขตพระนครศรีอยุธยา วาสุกรี ตั้งอยู่เลขที่ ๑๙ หมู่ ๓ ถนนอู่ทอง ตำบลท่าวาสุกรี อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เดิมเป็นโรงเรียนการช่างสตรี ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๑ โดยเปิดสอนชั้นมัธยมการช่างสตรี ในปี พ.ศ. ๒๔๙๕ และต่อมามีการเปิดสอนระดับอาชีวศึกษาชั้นสูง ในปี พ.ศ. ๒๕๐๒ วันที่ ๑๘ เมษายน พ.ศ. ๒๕๐๙ | |
โรงเรียนการช่างสตรีได้เปิดสอนวิชาพณิชยการเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงาน โดยเปลี่ยนจากโรงเรียนการช่างสตรีเป็นโรงเรียนพณิชยการชื่อว่า โรงเรียนพณิชยการวาสุกรี สังกัดกรมอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ ๑๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๐ ได้โอนจากกรมอาชีวศึกษาไปสังกัดวิทยาบัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา โดยเปลี่ยนชื่อเป็น วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา วิทยาเขตพระนครศรีอยุธยา ปี พ.ศ. ๒๕๓๐ สภาวิทยาลัย เทคโนโลยีและอาชีวศึกษา ได้อนุมัติให้เปิดสอนระดับปริญญาตรีสาขาบริหารธุรกิจ วิชาเอกการบัญชีหลักสูตร ๒ ปีต่อเนื่อง นับเป็นการศึกษาระดับปริญญาตรีรุ่นแรก วันที่ ๑๕ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๑ วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา ได้พระราชทานนามใหม่ว่า สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล และเมื่อวันที่ ๑๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๒ วิทยาเขตพณิชยการพระนครศรีอยุธยา ได้เปลี่ยนชื่อเป็น วิทยาเขตพระนครศรีอยุธยา วาสุกรี ตามชื่อตำบลที่ตั้งจนถึงปัจจุบัน | |
๒.๓ ประวัติความเป็นมาของวิทยาเขตนนทบุรี วิทยาเขตนนทบุรี แรกเริ่มก่อตั้ง มีสถานศึกษาอยู่ ๒ แห่ง จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๕๑๘ กรมอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ได้ประกาศให้รวมโรงเรียนช่างกลนนทบุรีและโรงเรียน การช่างนนทบุรีเป็นวิทยาลัยเทคนิคนนทบุรี ซึ่ง ๒ โรงเรียนนี้ ตั้งอยู่ ถนนนนทบุรี ๑ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรีอยู่ห่างกันประมาณ ๑ กิโลเมตร | |
ต่อมาได้โอนมาสังกัดวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา วิทยาลัยเทคนิคนนทบุรี มีพื้นที่จัดการศึกษา ๒ เขต คือ ๑. เขตเหนือ อยู่ตรงข้ามวัดแจ้งศิริสัมพันธ์ ถนนนนทบุรี ๑ ตำบลบางกระสอ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี ๒. เขตใต้ อยู่ติดกับวัดท้ายเมือง ถนนนนทบุรี ๑ ตำบลสวนใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี วิทยาเขตฯ เปิดสอนหลักสูตรระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) หลักสูตร ๒ ปี รอบบ่าย แผนกช่างเครื่องกล ช่างกลโรงงาน ช่างโลหะ ช่างไฟฟ้ากำลัง ช่างอิเล็กทรอนิกส์ ช่างโยธา ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๒๐ กระทรวงศึกษาธิการดำเนินการโอนวิทยาลัยเทคนิคนนทบุรีมาสังกัดวิทยาลัยเทคโนโลยี และอาชีวศึกษาและให้ชื่อใหม่ว่า “วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา วิทยาเขตเทคนิคนนทบุรี” เปิดสอนหลักสูตรระดับประกาศนียบัตร (ปวช.) และระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ซึ่งรับจากผู้สำเร็จการศึกษาระดับ ปวช. เมื่อวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๓๒ สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล ได้ประกาศเปลี่ยนชื่อวิทยาเขตเทคนิคนนทบุรีใหม่เป็น “วิทยาเขตนนทบุรี” และได้ขยายการจัดการศึกษา ถึงระดับปริญญาตรีจวบจนถึงปัจจุบัน |
๒.๔ ประวัติความเป็นมาของวิทยาเขตสุพรรณบุรี วิทยาเขตสุพรรณบุรี เป็นสถาบันการศึกษาสายวิชาชีพ สังกัดสถาบันเทคโนโลยีราชมงคลกระทรวงศึกษาธิการ ได้เริ่มดำเนินการก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๖ จากแนวความคิดของ ฯพณฯ บรรหาร ศิลปอาชา นายกรัฐมนตรีคนที่ ๒๑ ของประเทศ ซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุพรรณบุรีในขณะนั้น ได้ร้องขอให้กระทรวงศึกษาธิการจัดตั้ง สถาบันการศึกษาระดับสูง สังกัดสถาบันเทคโนโลยีราชมงคลที่จังหวัดสุพรรณบุรี | |
ด้วยพิจารณาเห็นว่าสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล เป็นสถาบันการศึกษาที่มีความหลากหลายในการจัดการเรียน การสอนสาขาวิชาชีพ ทั้งในระดับต่ำกว่าปริญญา และปริญญาตรี ทั้งนี้เพื่อเป็นการรองรับการขยายตัวทางด้านอุตสาหกรรมในภูมิภาคตะวันตกของประเทศไทย ซึ่งจังหวัดสุพรรณบุรีมีเส้นทางในการคมนาคมที่สะดวกและติดต่อกับจังหวัดที่มีความเจริญด้านอุตสาหกรรม เช่น กาญจนบุรี นครปฐม ราชบุรี อ่างทอง สิงห์บุรี พระนครศรีอยุธยา ชัยนาท และเพื่อเป็นการกระจายโอกาสทางการศึกษาออกสู่ชนบท ได้ประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๙ โดย ฯพณฯ บรรหาร ศิลปอาชา นายกรัฐนมตรีคนที่ ๒๑ ของประเทศไทย สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตสุพรรณบุรี มีพื้นที่แบ่งเป็น ๒ เขต คือ เขตที่ ๑ มีพื้นที่ ประมาณ ๑๐๓ ไร่ ตั้งอยู่เลขที่ ๔๕๐ หมู่ ๖ ถนนสุพรรณบุรี-ชัยนาท ตำบลย่านยาว อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นพื้นที่จัดการเรียนการสอนในคณะวิชาบริหารธุรกิจ คณะวิชาไฟฟ้า คณะวิชาโยธา และเขตที่ ๒ มีพื้นที่ ๔๐๑ ไร่ อยู่ห่างจากพื้นที่ เขตที่ ๑ ประมาณ ๒ กม. เป็นพื้นที่จัดการเรียนการสอนในคณะวิชาไฟฟ้าและคณะวิชาเครื่องกล เริ่มเปิดรับนักศึกษาระดับ ปริญญาตรี ตั้งแต่ปีการศึกษา ๒๕๔๒ เป็นต้นมา |